ตลาดรับสร้างบ้านในภาพรวมของปีนี้คาดว่าจะสามารถทำยอดได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากบรรยากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และคาดว่าจะดีอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปีนี้ แม้จะมีปัจจัยลบที่น่ากังวลจากปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนแรงงานและปัญหาราคาวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า แนวโน้มของตลาดรับสร้างบ้านของไทยเป็นไปในทิศทางบวกทั้งในช่วงปลายปีนี้ไปจนถึงปี 2558 แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือปัญหาแรงงานฝีมือขาดแคลน และทิศทางราคาวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น 5-10%
ทิศทางของราคาวัสดุก่อสร้างขึ้นอยู่กับแนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งในภาคระบบคมนาคมขนส่งและภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจากภาพรวมของตลาดอสังหาฯที่เริ่มฟื้นตัว บวกกับแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งหากเกิดปัญหาขาดแคลนวัสดุก่อสร้างจริง อาจจะส่งผลกระทบต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านและผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาฯประเภทต่างๆที่จ่อปรับราคาที่อยู่อาศัยขึ้นตามไปด้วย อย่างเร็วก็คือปลายปีนี้ หรืออย่างช้าก็คือต้นปีหน้า
ราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสแรกของปีสูงขึ้นร้อยละ 1.0
ส่วนใหญ่เป็นการสูงขึ้นจากทางด้านซัพพลาย ได้แก่การปรับสูงขึ้นของต้นทุนการผลิต ค่าแรงและวัตถุดิบส่งผลให้ดัชนี หมวดซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต วัสดุก่อสร้างอื่นๆ และหมวดสุขภัณฑ์ ปรับตัวสูงขึ้นตาม ขณะที่ด้านดีมานด์ ชะลอตัวลงจากสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้โครงการก่อสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ยังไม่มีกำหนดเวลาการก่อสร้างที่แน่นอนได้แก่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ได้ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างตามหัวเมืองใหญ่ๆ เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนชะลอตัวลง
นอกจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยในประเทศแล้วยังได้รับอิทธิพลจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายรวมทั้งมีการเร่งรัดการใช้งบประมาณมีงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของภาครัฐ ได้แก่ โครงการรถรางคู่ การพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า และโครงการบริหารจัดการน้ำเป็นต้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง และการซื้อสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างด้วย แต่อย่างไรก็ตามมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ปัญหาแรงงานขาดแคลน ต้นทุนการขนส่ง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่